วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2561

ด้านเศรษฐกิจ



                     
                                                          ด้านเศรษฐกิจ





ในสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยเริ่มต้นพัฒนาทางเศรษฐกิจขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เพราะเป็นผลมาจากการติดต่อกับต่างประเทศอย่างกว้างขวาง โดยปัจจัยที่เป็นแรงผลักดันให้มีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ มีดังต่อไปนี้

การปรับตัวเข้าสู่ความทันสมัยตามแบบตะวันตก เพื่อให้รอดพ้นจากการคุกคามของชาติมหาอำนาจตะวันตกนั้น จำเป็นต้องอาศัยเงินทุนเป็นจำนวนมหาศาล มิฉะนั้นการปฏิรูปจะดำเนินต่อไปไม่ได้ ดังนั้นการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อให้รัฐมีรายได้เพียงพอต่อการปฏิรูปแผ่นดิน ครั้งใหญ่จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ปัญหาการคลังที่ล้าสมัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประสบอยู่ในขณะเสด็จขึ้นครองราชย์ จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว เพราะไม่สนองตอบต่อนโยบายปฏิรูปแผ่นดินในทุกๆ ด้าน เพราะรัฐมีรายได้ไม่เพียงพอ เนื่องจากระบบการคลังขาดประสิทธิภาพ รายได้ของรัฐมีทางรั่วไหลมาก ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงปฏิรูปเศรษฐกิจ อย่างเร่งด่วน ดังนี้

2.1 การปฏิรูปการคลัง ระบบการคลังเดิมนั้นไม่สามารถตรวจสอบและควบคุมการจัดเก็บรายได้และการใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงปฏิรูปการคลังดังต่อไปนี้

 จัดตั้งหอรัษฏากรพิพัฒน์ โดยมุ่งหมายจะให้เป็นสถานที่เก็บรวบรวมพระราชทรัพย์ ซึ่งขึ้นอยู่ตามท้องพระคลัง จึงเป็นก้าวแรกของการปฏิรูปทางด้านการคลัง เพราะเป็นการเริ่มต้นรวมงานการเก็บภาษีอากรมาไว้ที่หอรัษฏากรพิพัฒน์ เพื่อให้เก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพของเจ้าพนักงานและเจ้าภาษีนายอากร ตลอดจนวางระบบป้องกันการทุจริตของเจ้าพนักงาน เงินภาษีอากรทั้งหมดจะต้องถูกส่งไปเก็บไว้ในท้องพระคลังทั้งหมด ก่อนที่จะแจกจ่ายให้กรมกองต่างๆ ใช้ในกิจการของตน

หอรัษฎากรพิพัฒน์






ประกาศใช้ พ.ร.บ.กรมพระคลังมหาสมบัติ ใน พ.ศ.2418 โดยจุดมุ่งหมายเพื่อจัดระเบียบราชการในกรมพระคลังมหาสมบัติให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยกำหนดวิธีการส่งเงิน รับเงิน ตรวจเงิน และการจัดลำดับตำแหน่งข้าราชการรับผิดชอบงานในระดับต่างๆ ตลอดจนกำหนดระเบียบปฏิบัติของเจ้าภาษีนายอากร และผู้เกี่ยวข้องในการส่งเงินต่อพระคลังมหาสมบัติ

 โปรดให้จัดระเบียบการจัดทำงบประมาณขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสำคัญของการจัดทำงบประมาณ รายรับและรายจ่ายในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการ ปฏิบัติราชการ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ เพราะแต่เดิมไม่มีการจัดทำงบประมาณรายรับรายจ่ายล่วงหน้า และต่อมาใน พ.ศ.2434 โปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบการจัดทำงบประมาณขึ้น เพื่อเป็นหลักในการจัดสรรเงินให้แก่กระทรวงต่างๆ ให้เป็นสัดส่วนกัน การจัดระเบียบการจัดทำงบประมาณดังกล่าว ทำให้รัฐบาลสามารถจัดพิมพ์งบประมาณรายรับรายจ่ายแผ่นดินขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2444

 โปรดให้แยกพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการจัดระเบียบการคลังและจัดทำงบประมาณในครั้งนี้ ได้มีการแยกรายจ่ายส่วนพระองค์ออกจากรายจ่ายของแผ่นดินหรือรายจ่ายเพื่อ สาธารณะ และใน พ.ศ.2441 ได้มีการแยกพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ออกจากทรัพย์สินของแผ่นดิน แล้วมอบให้พระคลังข้างที่เป็นฝ่ายบริหารพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ต่อไป

 การปฏิรูประบบเงินตรา เนื่องจากการค้าได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง รัชกาลที่ 5 จึงทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงระบบเงินตราให้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายที่ทันสมัย ดังเช่นที่ประเทศตะวันตกปฏิบัติกันอยู่ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการซื้อขายยิ่งขึ้น โดยมีการปฏิรูปเงินตราดังนี้

พ.ศ.2422 โปรดเกล้าฯให้สร้างหน่วยเงินที่เรียกว่า “สตางค์”






ขึ้นใช้ โดยกำหนดให้ 100 สตางค์ เป็น 1 บาท พร้อมทั้งผลิตเหรียญสตางค์ขึ้น 4 ราคา คือ 20 สตางค์ 10 สตางค์ 5 สตางค์ และ 2 1/2 สตางค์ ใช้ปนกับเงินซีก เสี้ยว อัฐ ต่อมาในปลายรัชกาล โปรดให้ยกเลิกเงินเฟื้อง ซีก เสี้ยว อัฐ และโสฬส ซึ่งเป็นเงินตราแบบเดิม

พ.ศ.2445 โปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติธนบัตร ร.ศ.121 และจัดตั้งกรมธนบัตรขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการออกธนบัตรให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น

          สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรม หมื่นมหิศรราชหฤทัย ทรงดำริที่จะจัดตั้งธนาคารของคนไทยเพื่อสนับสนุนการค้าและเศรษฐกิจของคนไทย ให้ก้าวหน้าทัดเทียมกับชาวต่างประเทศ จึงได้ทรงเริ่มต้นด้วยการจัดตั้ง “บุคคลัภย์” (ฺBook Club) ขึ้นก่อน เมื่อ วันที่ 4 ตุลาคม 2447 และทดลองดำเนินกิจการภายในประเทศเท่านั้น ต่อมาเมื่อกิจการดำเนินไปด้วยดี และได้รับความเชื่อถือจากประชาชน จึงได้เปลี่ยนจาก “บุคคลัภย์”มาเป็นแบงค์ ใช้ชื่อว่า แบงก์สยามกัมมาจล มีนโยบายเช่นเดียวกับธนาคารต่างประเทศ นับเป็นธนาคารแห่งแรกของประเทศที่ตั้งขึ้นมาด้วยเงินทุนของคนไทย ต่อมาธนาคารนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด”










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

พระราชประวัติรัชกาลที่ 5

พระราชประวัติรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว      พระราชประวั ติ               พระบา...